สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทยขอความชัดเจน ถึงมหาดไทยกรณีการจัดซื้อวัคซีนปองกันเชื้อไวรัสโควิด-๑๙
สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทยขอความชัดเจน
ถึงมหาดไทยกรณีการจัดซื้อวัคซีนปองกันเชื้อไวรัสโควิด-๑๙
นายสมศักดิ์ กิตติธรกุล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่ในฐานะนายกสมาคมองค์การ บริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทยกล่าวว่า เนื่องจากขณะนี้ ได้มีองค์การบริหารส่วนจังหวัดหลายจังหวัดได้หารือมายังสมาคม องค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย ถึงแนวทางปฏิบัติในการจัดหาวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโคโรน่า ๒๐๑๙ หรือ Covid-19 เพื่อฉีดให้กับประชาชนในพื้นที่ โดยที่ไม่ขัดต่อข้อกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพราะว่าก่อนหน้านี้กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ได้เคยมีหนังสือด่วนที่สุด ที่ มท ๐๘๐๘.๒/ว ๒๕๒ ลงวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ให้แจ้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ โดยอ้างถึงคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่แจ้งมายังศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด – 19 กระทรวงมหาดไทย ว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่สามารถจัดซื้อวัคซีนป้องกัน COVID – 19 เพื่อฉีดให้กับประชาชนได้ (ตามความในเอกสารที่ส่งมาด้วย) รวมทั้งหนังสือสั่งการฉบับอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับมาตรการป้องกันและ รักษา รวมทั้งการช่วยเหลือประชาชน ในกรณีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า ๒๐๑๙ ที่สั่งการมายังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอีกหลายฉบับ ซึ่งได้ก่อให้เกิดความสับสนในแนวทางปฏิบัติเป็นอย่างยิ่ง “ทางสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย ได้พิจารณาแล้วเห็นว่ากฎหมายและระเบียบ หลายฉบับได้บัญญัติให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการป้องกันและควบคุมโรค ดังนี้
๑.กฎกระทรวง พ.ศ.๒๕๔๑ ออกตามความในพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ.๒๕๔๐ (๑๔) การป้องกันและบำบัดรักษาโรค
๒.พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.๒๕๔๒องค์การบริหารส่วนจังหวัดมีอำนาจหน้าที่ (๑๙) การจัดให้มีโรงพยาบาลจังหวัด การรักษาพยาบาล การป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ
๓.แผนปฏิบัติการกำหนดขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปก ครองส่วนท้องถิ่น ฉบับที่ ๒ ด้านที่ ๒ งานส่งเสริมคุณภาพชีวิต ข้อ ๒.๔ แผนภารกิจด้านสาธารณสุข ๒.๔.๑ (๑) การสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรคและการรักษาพยาบาลเบื้องต้น ๔.ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือ ประชาชนตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพ.ศ. ๒๕๖๐ หมวด ๕ การป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ ข้อ ๑๓,๑๔ และ ๑๕”
นายกสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทยกล่าวอีกว่า สำหรับวิธีดำเนินการนั้น เพื่อให้เกิดความชัดเจนและจะได้ยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้องตรงกันและ ไม่เกิดปัญหากับหน่วยตรวจสอบในอนาคต ทางสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย จึงมีหนังสือหารือไปยังกระทรวงมหาดไทย เพื่อขอหารือถึงแนวทางปฏิบัติตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
๑.ในกรณีที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดจะดำเนินการจัดหาวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโคโรน่า ๒๐๑๙ หรือ Covid-19 เพื่อฉีดให้กับประชาชนในพื้นที่ของจังหวัดตัวเอง
๒.กรณีที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วน ท้องถิ่นอื่น ดำเนินการจัดหาวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโคโรน่า ๒๐๑๙ หรือ Covid-19 เพื่อฉีดให้กับประชาชนในพื้นที่ของจังหวัดตัวเอง
๓.กรณีที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดร่วมมือกับหรือหน่วยงานของรัฐ ในการดำเนินการจัดหาวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโคโรน่า ๒๐๑๙ หรือ Covid-19 เพื่อฉีดให้กับประชาชนในพื้นที่ของจังหวัดตัวเอง
๔.กรณีอื่นๆ ที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดสามารถดำเนินการได้ “ส่วน อบจ.ไหน จะใช้วิธีไหน ก็ขึ้นอยู่กับบริบทและดุลยพินิจของผู้บริหารแต่ละ อบจ. สิ่งที่อยากจะฝากอีกประการคือ เนื่องจากบริบทและสถานะทางการคลังรวมถึงรายได้ของแต่ละ อบจ.มีไม่เท่ากันบาง อบจ.มีรายได้มาก มีเงินสะสมมากก็สามารถที่จะดำเนินการได้อย่างเต็มที่ ส่วน อบจ.เล็กๆที่มีรายได้น้อยมีเงินสะสมน้อย จะทำอย่างไรและตอนนี้รายได้ของ อบจ.ก็ลดลงทั้งในส่วนของเงินอุดหนุน และการจัดเก็บภาษีทุกประเภทก็ลดลงตามสภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา และเชื่อว่าหลังจากนี้ถ้ามีบาง อบจ.ใช้งบประมาณดำเนินการได้แต่อีกหลาย อบจ.ไม่มีงบประมาณที่จะดำเนินการ ก็จะเกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำของประชาชนแต่ละจังหวัด ซึ่งก็ต้องฝากให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้พิจารณาเรื่องนี้ด้วย”นายกสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทยกล่าว